top of page

 

 

             ในด้านงานสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้างที่เก่าแก่หลายรัชกาลก็ยังคงมีอยู่บ้างในชุมชนท่าเตียน ซึ่งหากคนที่ไม่รู้จักเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชุมชนนี้ก็คงจะไม่สังเกตและไม่รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของท่าเตียน ชุมชนอันเก่าแก่คู่วัดโพธิ์แห่งนี้ 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
อาคารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวโค้งถนน ซอยท่าเรือ

               ลักษณะทางกายภาพและการใช้งานในย่านชุมชนท่าเตียน ประกอบไปด้วยที่พักอาศัย ได้แก่ ตึกแบบยุโรปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตรงท่าโรงโม่หรือซอยทางเข้าท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน ซึ่งจะสร้างเป็นตัวยูไปทางซอยท่าเรือแดง ปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ตึกแถวส่วนนี้ เป็นอาคารอนุรักษ์ จำนวน 56 ห้อง เป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร โดยอาคารนั้น มีลักษณะการจัดกลุ่มเป็นอาคารพาณิชย์แถวขนาดสูง 2 ชั้น มีรูปแบบของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ ยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5 แบบตึกแถวล้อมรอบตลาด มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ แต่จากการใช้สอยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่าร้อยปีทำให้อาคารมีสภาพทรุดโทรม มีการต่อเติมอย่างไม่ถูกต้อง ขาดความเป็นระเบียบ 

ตลาดท่าเตียน
และกลุ่มอาคารรอบใน

                ส่วนตรงกลางตึกรูปตัวยู คือตลาดท่าเตียน และยังมีอาคารบ้านเรือนด้วยบางส่วน เรียกว่ากลุ่มอาคารรูปตัวเอ็ม เป็นอาคารที่อยู่อาศัย บางหลังเป็นอาคารไม้ บางหลังเป็นอาคารปูน เนื่องจากการปรับปรุงต่อเติมของคนรุ่นหลัง อาคารส่วนนี้ เก่าทรุดโทรมและไม่เป็นระเบียบ เช่นเดียวกับตึกแถวรอบนอก ตึกแถวบริเวณนี้เป็นโครงการปรับปรุงอนุรักษ์ส่วนต่อไปของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

อาคารเดิมก่อนปรับปรุง

อาคารหลังจากปรับปรุงแล้ว

             โดยทั่วไปรูปแบบการใช้อาคารชั้นล่างจะเป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขายอาหารแห้งต่าง ๆ เช่น กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ของชำ แต่มีส่วนที่ใช้ในวัตถุประสงค์อื่นด้วย เช่น สถาบันการเงิน ร้านนวดแผนโบราณ และการพักอาศัยอย่างเดียวปะปนอยู่บ้าง ส่วนการใช้อาคารชั้นบน ส่วนใหญ่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย สภาพอาคารนั้นยังมีโครงสร้างสมบูรณ์พอใช้ แต่ขาดการดูแลรักษาและความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม การระบายความชื้นและระบายอากาศ 

              สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีโครงการในการพัฒนาอาคารอนุรักษ์บริเวณท่าเตียน โครงการจัดทำแบบแปลนอาคารอนุรักษ์บริเวณท่าเตียน โครงการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณท่าเตียน โดยจะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และผู้เช่าบนพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์บริเวณท่าเตียน และปรับปรุงซ่อมแซมหน้ากากอาคาร (Facade) ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด เป็นศรีสง่าแก่พระนครอย่างยั่งยืน

ตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 6

              ส่วนตึกที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 จะอยู่แถวซอยประตูนกยูง อาคารตึกแถวบริเวณนี้ เคยได้รับปรับปรุงและจัดระเบียบมาบ้างแล้ว เช่น การทาสีอาคารทุกหลังให้เหมือนกัน ทำหลังคากันสาดใหม่ ให้เรียงต่อกันอย่างมีระเบียบ ทำพื้นถนนใหม่

ท่าเรือ

                 สำหรับท่าเรือข้ามฟาก เป็นท่าเรือไม้กระดานแห่งสุดท้ายในเกาะรัตนโกสินทร์ ถึงแม้จะเก่า แต่ก็ยังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าอาคารที่อยู่อาศัยในซอย อาจเพราะอาคารส่วนนี้ใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่อยู่อาศัย ทำให้ไม่มีเสื้อผ้าตากแขวนไม่สวยงาม ท่าน้ำนี้ เมื่อถึงฤดูน้ำ น้ำจะท่วมเป็นประจำ ทำให้มีการต่อเติมเพิ่มความสูงพื้นอาคารบางหลัง แล้วแต่ผู้เช่าทำกันเอง ทำให้ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไปบ้าง 

สวนนาคราภิรมย์

             ถัดไปเป็นสวนสาธารณะนาคราภิรมย์ เป็นสวนสาธารณะที่ให้ทัศนียภาพที่ดีแก่ชุมชนเป็นอย่างมาก  เป็นการเปิดมุมมองจากทางแม่น้ำเจ้าพระยา มองผ่านสวนอันร่มรื่น ไปสู่พระบรมมหาราชวัง โดยจะมองเห็นอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมยุโรปที่หัวมุมถนนชุมชนท่าเตียนรับกันด้วย

ตึกแถวสมัยรัชกาลที่ 3

              แต่ยังมีตึกที่เก่ากว่านั้นตรงใกล้ๆซอยประตูนกยูงที่เคยเป็นอู่จอดเรือของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส แถวนั้นจึงมีห้องพักของพวกฝีพายเป็นอาคารชั้นเดียว 11 ห้องที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน 

bottom of page